พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เป็นพระที่นั่งองค์ประธานของพระที่นั่งทั้งหมู่ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 เมื่อพุทธศักราช 2332 ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท แทนพระที่นั่งอมรินทราภิเษกมหาปราสาท ซึ่งเป็นมหาปราสาทองค์แรกในยุครัตนโกสินทร์ที่ถูกฟ้าผ่าลงตรงหน้ามุขเด็จจนเกิดไฟลุกไหม้ลามไปทั่ว
![](https://static.wixstatic.com/media/7b1413_704cef8bdf654f23907250172f1492e4~mv2.jpg/v1/fill/w_720,h_477,al_c,q_80,enc_auto/7b1413_704cef8bdf654f23907250172f1492e4~mv2.jpg)
เมื่อสร้างแล้วเสร็จ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้เสด็จออกว่าราชการที่ท้องพระโรง นอกจากนั้นสถานที่นี้ยังเป็นที่ประดิษฐานพระบรมศพของพระมหากษัตริย์และพระบรมราชวงศ์ชั้นสูงด้วย เมื่อรัชกาลที่ ๑ เสด็จสวรรคต ได้อัญเชิญพระบรมศพมาตั้งไว้ที่พระที่นั่งองค์นี้ จนกลายเป็นธรรมเนียมที่จะต้องประดิษฐานพระบรมศพสมเด็จพระมหากษัตราธิราชเจ้าและสมเด็จพระอัครมเหสีไว้บนพระที่นั่งองค์นี้
ตั้งแต่ พ.ศ. 2489 พระที่นั่งองค์นี้ได้ประดิษฐานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทรสยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร
พระที่นั่งองค์นี้ไม่ได้เป็นเพียงที่ประดิษฐานพระบรมศพและพระศพเท่านั้น ยังเป็นสถานที่เพื่อทำพระราชพิธีสำคัญด้วย เมื่อปี พ.ศ. 2454 ในรัชกาลสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท
ในปัจจุบัน พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทเป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีและพระราชกุศลต่างๆ เช่น พระราชพิธีฉัตรมงคล (พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า) ในวันที่ 5 พฤษภาคม ของทุก
![](https://static.wixstatic.com/media/7b1413_29826eec064846ec81aaf55a536053f1~mv2.jpg/v1/fill/w_600,h_398,al_c,q_80,enc_auto/7b1413_29826eec064846ec81aaf55a536053f1~mv2.jpg)
สถาปัตยกรรม
พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทเป็นพระที่นั่ง 1 ชั้นสถาปัตยกรรมทรงปราสาทแบบจตุรมุขด้านเหนือมีมุขเด็ดยื่นออกมาเป็นพระที่นั่งก่ออิฐถือปูนฐานสูง 2.85 เมตรชั้นล่างเป็นเชิงฐานถัดไปเป็นฐานสิงห์และฐานเชิงบาตรสองชั้นหลังคาเป็นยอดทรงปราสาทประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ นาคสะดุ้งคันทวยมีลักษณะเป็นพญานาค 3 หัวหน้าบันจำหลักรูปพระนารายณ์ทรงสุบรรณล้อมรอบด้วยลายกนกเทพพนมมุมยอดปราสาททั้ง4มุมเป็นรูปลายพญาครุฑหน้าบันจำหลักรูปพระนารายณ์ทรงครุฑไขรารอบปราสาทเป็นรูปครุฑหยุดนาครองรับ
อาณาเขตของพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทมีกำแพงแก้วล้อมรอบ 3 ด้าน มีประตูยอดมณฑปประดับกระเบื้องเคลือบสีเป็นทางเข้าออกทั้ง 3 ด้าน คือ ด้านตะวันออก 2 ประตู ด้านตะวันตก 1 ประตู และด้านเหนือ 3 ประตู ด้านหน้าพระที่นั่ง มีทิมคด 2 หลัง ที่แนวกำแพงแก้วด้านตะวันตก มีหอเปลื้องเครื่อง 1 หลัง มีสะพานเชื่อมต่อกับมุขด้านตะวันตกของพระมหาปราสาทด้านหลังพระมหาปราสาทมีเขื่อนเพชรกั้นเขตระหว่างพระราชฐานชั้นกลางและชั้นใน
จุดเด่นจะอยู่ที่ชั้นหลังคา แบ่งเป็น 7 ชั้นมียอดสี่เหลี่ยมไม้สิบสองยื่นออกมารับบานแถลงทุกชั้น มีครุฑแบบชายคาทั้งสี่ด้านแทนคันทวย อันเป็นลักษณะยอดมหาปราสาทที่มีลักษณะถูกต้องตามหลักวิชาประกอบด้วยศิลปะที่งดงาม
Commentaires